THAILAND TECH SHOW 2019
งานวิจัยเพื่อเอกชน-นักลงทุน
เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ฝ่ายจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้นำผลงานวิจัยที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมแสดงผลงานในงาน Thailand Tech Show 2019 ณ เซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน และมอบกิตติกรรมประกาศความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมอัปเดต 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองประจำปี 2562 โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และร่วมโหวตผลงานที่น่าลงทุนและนำเสนอดีที่สุดกับกิจกรรม NSTDA Investors' Day 2019 ในรูปแบบพิชชิ่งจาก 11 ผลงานเด่นประจำปี รวมถึงเสวนาและบรรยายพิเศษในหลายหัวข้อเพื่อเสริมความรู้ทั้งในด้านนวัตกรรมสุขภาพ อาหาร และพลังงาน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและอุตสาหกรรม และโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรมของ สวทช. ตลอดจนเวทีพิชชิ่งประจำปี (Technology Pitching) ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี พร้อมจัดเต็ม! ตลอดงานทั้ง 2 วัน พบกับบูธแสดงผลงานเทคโนโลยี สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร กว่า 240 ผลงานจากกว่า 40 หน่วยงาน ครอบคลุมในหลายเทคโนโลยี ทั้งการแพทย์ เกษตร/ประมง เครื่องประดับ เครื่องมือ/เครื่องจักร เวชสำอาง/เวชภัณฑ์ อาหาร/เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อการเรียน
ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ส่งผลงานที่ได้รับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมในโซน Tech Show จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1. นวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพอาหารเสริมจากสมุนไพรโดยเทคโนโลยีพลาสมา 2. ครีมบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมจากสารสกัดอะโวกาโด 3. ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นปากสมุนไพร และกระบวนการผลิตสิ่งนั้น 4. ผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพร และกรรมวิธีการผลิต 5. กรรมวิธีการผลิตส่วนผสมล่วงหน้าสำหรับผลิตอาหารสัตว์จากหญ้าและโพรไบโอติกส์ 6. กรรมวิธีการสกัดและการเพิ่มความบริสุทธิ์ของสาร เอล-ควาบราซิทอล (L-quebrachitol) จากซีรั่มน้ำยางพารา และผลผลิตจากโครง Research Gap Fund เข้าร่วมโซน Research Gap Fund จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร เวชสำอาง และสารประกอบเชิงหน้าที่จากสาหร่ายน้ำจืด ของบริษัท เอส.ที.ดี เมติกส์ จำกัด และการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบพิชชิ่ง หัวข้อ นวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพอาหารเสริมจากสมุนไพรโดยเทคโนโลยีพลาสมา โดย อาจารย์ ดร. กีรติญา จันทร์ผง บุคลากรในสังกัด คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อกลไกเชื่อมต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิจัย และนักพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ไปเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้ประเทศนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป